ในปัจจุบัน อุปกรณ์ดิจิทัลที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น โดยไม่แบ่งแยกเพศ ช่วงวัย ฐานะ การศึกษา ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การใช้เพื่อความบันเทิง และการพูดคุยกับผู้อื่นผ่านทางสังคมออนไลน์ ส่งผลให้เวลาการใช้งานหน้าจอเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มของเด็กและเยาวชนนั้น มีพฤติกรรมติดหน้าจอเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ปกครองสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูก โดยขาดความคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาของสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก
การใช้เวลาหน้าจอ (Screen Time)
การใช้เวลาหน้าจอ เป็นคำที่ใช้เรียกกิจกรรมต่างๆ บนหน้าจอดิจิทัล เช่น การดูโทรทัศน์ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือการเล่นวิดีโอเกม การใช้เวลาหน้าจอส่งผลให้ผู้ใช้ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ต้องนั่งเฉยอยู่กับที่เวลาทำกิจกรรม เช่น การนั่งเฉยๆ โดยใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย

การใช้เวลาหน้าจอเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายประเภท ดังนี้
- กิจกรรมที่มีการโต้ตอบ – เช่น การเล่นวิดีโอเกม การสนทนาผ่านโปรแกรมแชท การใช้อุปกรณ์ออนไลน์สร้างคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์
- กิจกรรมที่ไม่มีการโต้ตอบ – การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์หรือรายการในช่องสตรีมมิ่ง
- กิจกรรมด้านการศึกษา – เช่น การเรียนออนไลน์ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- กิจกรรมด้านความบันเทิง – การเล่นเกมหรือดูรายการบันเทิง

การบริหารจัดการเวลาหน้าจอ
การบริหารจัดการเวลาหน้าจอ เป็นทักษะในการรู้จักควบคุมตนเอง และสามารถแบ่งเวลาในการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์ และสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เวลาหน้าจอ และกิจกรรมที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง
ความสำคัญของการจำกัดเวลาหน้าจอ (Screen Time Management)
ถึงแม้การใช้เวลาหน้าจอ จะช่วยให้สร้างความสนุกสนานและเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ แต่การใช้เวลาหน้าจอนานเกินไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการบางอย่างได้ การจำกัดเวลาหน้าจอจึงเป็นการจัดสรรเวลาให้ใช้อุปกรณ์ในระดับที่สมดุล พอดีกับแต่ละช่วงวัย เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมหรือการพักผ่อนที่มีผลต่อพัฒนาการ เช่น รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนๆ การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย เป็นต้น

ผลกระทบจากการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป
สำหรับผู้ใหญ่
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น – เนื่องจากพฤติกรรมการอยู่นิ่ง หรือรับประทานของจุบจิบระหว่างการใช้เวลาหน้าจอ
- ปัญหาด้านสายตา – การจ้องมองหน้าจอนานๆ เป็นสาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม (Computer Vision Syndrome) ทำให้เมื่อยล้าสายตา ตาแห้ง ตาพร่ามัว แสบตา สู้แสงไม่ได้ รวมถึงปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยและเจ็บหลัง – จากการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมเมื่อใช้เวลาหน้าจอ ส่งผลให้เมื่อยคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ และอาจเกิดอาการนิ้วล็อคจากการเล่นเกม ที่มีการงอนิ้วหรือข้อมือบ่อยๆ รวมถึงอาจมีการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วมือได้
- นอนไม่หลับ – แสงสีฟ้าจากหน้าจอ ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ควบคุมการนอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น
- ซึมเศร้าและวิตกกังวล – คนที่ติดโทรศัพท์มือถือ มักมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวลตามมา เนื่องจากการรอคอย หรือคาดหวังเสียงแจ้งเตือนการตอบกลับข้อความ
- คิดช้าลง – การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ทำให้ได้รับรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมา ส่งผลต่อระบบประสาท เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการทางความคิดของสมอง ความจำถดถอย
- อายุสั้น – การนั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ทำให้มีพฤติกรรมการอยู่นิ่ง ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย อาจทำให้สุขภาพหัวใจอ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และอาจทำให้อายุสั้นลงได้

สำหรับเด็ก
- พัฒนาการทางภาษาช้าลง – เด็กก่อนวัยเรียนที่ไม่ได้เล่นของเล่นแบบสร้างสรรค์ ใช้เวลากับกิจกรรมบนหน้าจอนานๆ จะมีปัญหาพัฒนาการทางภาษาที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป
- ทักษะการใช้ชีวิตต่ำ – การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ทำให้ขาดทักษะความสามารถในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น การผูกเชือกรองเท้า การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ รวมถึงขาดความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการ
- สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง – ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน หรือมีปัญหาทางร่างกายจากการใช้งานอุปกรณ์ เช่น ปัญหาทางสายตา หรือพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือ
- การเรียนไม่ดี – การใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้การเรียนของเด็กแย่ลง
- นอนหลับไม่สนิท – ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง นอนหลับได้ไม่สนิท ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง
- ปัญหาจากการดูโฆษณา – การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ทำให้เด็กมีโอกาสดูโฆษณาทางอ้อม เช่น ขนมขมเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลม หรืออาหารขยะที่ขาดโภชนาการ
- ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คน – มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว หรือคนรอบข้างลดลง ทำให้ขาดการเรียนรู้ที่จะผูกมิตรกับผู้อื่น หากปล่อยในระยะยาว จะมีอาการแยกตัวออกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
- พฤติกรรมก้าวร้าว – หากเด็กมีอาการติดโทรศัพท์มือถือและไม่ได้ใช้เมื่อมีความต้องการ ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะไม่ได้ดั่งใจ

การใช้เวลาหน้าจอให้มีประโยชน์
นอกจากการจำกัดเวลาหน้าจอแล้ว อีกสิ่งที่ควรจัดสรรให้กับเด็ก คือ สอนให้รู้จักการใช้เวลาหน้าจอให้เกิดประโยชน์ แม้การใช้เวลาหน้าจอบางประเภทจะมีลักษณะส่งเสริมพฤติกรรมอยู่นิ่ง หรือเป็นเพียงความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง แต่ในบางกรณีการใช้เวลาหน้าจอสามารถใช้เพื่อการศึกษา และช่วยด้านพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน
การเล่นดิจิทัล (Digital Play)
การเล่นดิจิทัลเป็นกิจกรรมการเล่นรูปแบบใหม่ที่เด็กต้องใช้ความตั้งใจและพลังงานในการเล่น โดยมีการโต้ตอบกับสื่อและเนื้อหาในอุปกรณ์ดิจิทัล การเล่นดิจิทัลจะเป็นการใช้เวลาหน้าจอที่มีประโยชน์สำหรับเด็ก หากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ปกครองไปพร้อมกัน เช่น การเล่นวิดีโอเกมหรือเกมคอมพิวเตอร์ที่มีการโต้ตอบ รวมถึงของเล่นดิจิทัล (Digital Toys) ที่ต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์หรือมีการขยับเขยื้อนร่างกาย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่น หรือเล่นเกมฝึกภาษา

การเล่นดิจิทัลสามารถกระตุ้นการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้ไม่น้อย แต่การให้เด็กเล่นดิจิทัลภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง จะทำให้เด็กได้รับประโยชน์จากการเล่นมากกว่าปล่อยให้เล่นตามลำพัง ผู้ปกครองควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่นของลูก และร่วมเล่นสนุกไปด้วยกัน คอยให้ความรู้และเสริมทักษะต่างๆ ที่ได้รับจากกิจกรรมหน้าจอ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง
- เป็นแบบอย่างที่ดี – เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เวลาหน้าจอให้กับลูก ด้วยการไม่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตในช่วงเวลาของครอบครัว
- จัดสรรอย่างมีระบบ – จัดสรรการใช้เวลาหน้าจออย่างมีแบบแผนให้กับลูก เช่น ตกลงร่วมกันกับลูกเพื่อกำหนดเวลาที่อนุญาตให้ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล
- สนับสนุนกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่น – เป็นแบบอย่างที่ดีและแนะนำทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลัง อ่านหนังสือ ทำงานฝีมือ
- สร้างสรรค์กิจกรรมที่ท้าทายให้ลูก – สนับสนุนของเล่นที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น เช่น งานฝีมือ งานปั้นดินน้ำมัน การต่อตัวต่อพลาสติก การต่อจิ๊กซอว์
- มีส่วนร่วมในชีวิตของลูก – ถามคำถาม ฟังเรื่องราว สังเกต และให้ความเห็นกับกิจกรรมการเล่นอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมหน้าจอ
- จัดสรรเวลาร่วมกันในครอบครัว – จัดสรรเวลาช่วงหนึ่งในแต่ละวันสร้างปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับลูก โดยกำหนดให้เป็นช่วงเวลางดใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เช่น ช่วงรับประทานอาหารเย็น ไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกัน เล่นกีฬาด้วยกัน
- กำหนดเวลางดใช้หน้าจอ – แบ่งช่วงเวลาในแต่ละวันเป็นเวลาที่ไม่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เช่น ช่วงรับประทานอาหารร่วมกันของครอบครัว ช่วงเล่นเกมกับครอบครัว ช่วงก่อนเวลาเข้านอน
- แยกแยะสื่อให้เป็น – ผู้ปกครองควรรู้ว่ารายการโทรทัศน์หรือเกมใด ที่มีเนื้อหาเพื่อการศึกษาหรือเพื่อความบันเทิง มีคุณภาพหรือไม่ และรู้จักส่งเสริมการใช้ทักษะจากการเล่นดิจิทัลบนหน้าจอมาใช้ในชีวิตจริง
อ้างอิง
http://cclickthailand.com/fact-sheet-การบริหารจัดการเวลาบ/