เนื่องด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน มีข้อมูลข่าวสารมากมายรายล้อม และสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ในบางครั้งอาจมีผู้ไม่หวังดี อาศัยช่องโหว่ของการสื่อสารในการปล่อยข่าวปลอม (Fake News) เพื่อสร้างความสับสนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม
อย่างไรก็ดี มีจุดสังเกตเพื่อช่วยพิจารณาข้อมูล ว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ โดยพิจารณาจากลักษณะของข่าวปลอมประเภทต่างๆ

ลักษณะของข่าวปลอม 10 ประเภท
1. คลิกเบท (Clickbait)
ข่าวที่ใช้ถ้อยคำหรือรูปพาดหัวข่าวให้ดูน่าสงสัย หรือดึงดูดให้คนคลิกเข้าไปอ่าน ทั้งที่จริงแล้วเนื้อหาข่าวอาจไม่มีความถูกต้องหรือคุณภาพ เพียงแต่ทำให้คนหลงเข้าไปอ่านเพื่อเรียกยอดผู้เข้าชมของเว็บไซต์
2.โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)
ข่าวที่นำเสนอข้อมูลที่เป็นอุดมกาณ์ หรือมุมมองบางอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว และมีทัศนคติตามมุมมองของผู้นำเสนอ มักทำซ้ำและกระจายไปในสื่อวงกว้าง เพื่อทำให้ผู้อ่านเชื่อและคล้อยตาม
3. การแฝงการโฆษณา (Sponsored Content, Native Advertising)
ข่าวที่แฝงด้วยการโฆษณาที่มีเนื้อหากลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของผู้นำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านรับข้อมูลโดยไม่ทราบว่าเป็นโฆษณาจนกว่าจะอ่านหรือชมจนจบ การแฝงโฆษณานี้ จะเล่าเรื่องราวของสินค้าและเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ให้มากจนเกินไป ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าอ่านโฆษณา เนื้อหามักจะผลิตโดยผู้ลงโฆษณา หรือร่วมกันผลิตระหว่างผู้โฆษณากับผู้นำเสนอ
4. ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax)
ข่าวที่ดัดแปลงข้อมูลเพื่อเน้นสร้างอารมณ์ขันให้ผู้อ่าน ใช้เนื้อหาตลดเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในโลกความเป็นจริงผ่านการล้อเลียนหรือเสียดสี
5. ข่าวที่ผิดพลาด (Error)
ข่าวที่มีข้อความผิด ชื่อบุคคลหรือรูปภาพผิดจากเนื้อหาข่าวจริงๆ ทำให้ผู้รับสารเข้าใจไปในทิศทางอื่น ซึ่งในบางครั้งแม้แต่สำนักข่าวที่น่าเชื่อทีก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน
6. ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan)
ข่าวบิดเบือนข่าวสาร มักเลือกข้างนำเสนอ โดยการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อฝ่ายที่ตนเองไม่ชอบ และนำเสนอข่าวสนับสนุนฝ่ายที่ตนเองชอบเกินจริง มักเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องทางการเมือง
7. ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)
ข่าวที่เป็นเรื่องเล่าหรือบทความ ที่สร้างจากความคิดของคนหรือกลุ่มคนที่นำเหตุการณ์ต่างๆ มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน โดยอาจอาศัยข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาผูกโยงกันเป็นเรื่องราว หรืออาจมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อบุคคลอื่น
8. วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience)
ข่าวหรือบทความที่มีเนื้อหาที่มีการอ้างหลักการทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง แต่จริงๆ แล้วมีความขัดแย้งกันเอง เข้าไม่ได้กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่มีหลักฐานตรวจสอบความเป็นไปได้มาสนับสนุน มักมาในรูปแบบของบทความทางการแพทย์หรือบทความสุขภาพ ที่แฝงโฆษณายารักษาโรคหรืออุปกรณ์เพื่อสุขภาพ โดยแอบอ้างว่าได้ผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้ว และสร้างภาพผู้เชี่ยวชาญเพื่อยืนยันรับรองให้ดูน่าเชื่อถือ
9. ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดๆ (Misinformation)
ข่าวที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ข้อมูลอาจมีทั้งข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ผิดพลาดผสมกัน ผู้นำเสนอตั้งใจสื่อสารออกไปแต่ไม่ได้ตระหนักว่าข่าวนั้นมีข้อมูลผิดพลาดอยู่ ตัวอย่างเช่น ข่าวลือ
10. ข่าวหลอกลวง (Bogus)
ข่าวปลอมที่เจตนาสร้างขึ้นมาและจงใจให้มีการแพร่กระจายออกไปในวงกว้างเพื่อใช้สำหรับหลอกลวง โดยมีเนื้อหา ภาพ หรือข้อมูลที่เป็นเท็จมาประกอบกัน โดยอาจมีการแอบอ้างแหล่งข่าวหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อให้ดูเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือ
เพราะอะไรคนถึงเชื่อข่าวปลอม
1.ตกหลุมพราง
ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอมที่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว
2. แยกแยะข่าวไม่ได้
ผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่ข่าวปลอมถูกทำให้กลมกลืนกับข่าวจริง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดหน้า หรือการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าว
3. กลไกของความเชื่อ
หากมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดส่งต่อข่าวมาให้ ผู้อ่านมักจะไม่ตระหนักหรือใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบข่าวนั้นๆ เพราะคิดว่าผู้ส่งคงกลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว
4. เล่นกับความรู้สึก
ข่าวปลอมมักพาดหัวให้หวือหวา เนื้อหาข่าวที่เร้าอารมณ์ เพื่อให้คนอ่านจะถูกกระตุ้นอารมณ์ให้มีปฏิกิริยาต่อข่าวนั้นเพิ่มขึ้น เช่น การกดเข้าไปอ่าน กดไลค์ แสดงความเห็นและช่วยแชร์ข่าวออกไป
5. ผู้อ่านมีช่วงความสนใจสั้น
อาศัยจุดอ่อนของพฤติกรรมผู้อ่านที่มักมีระยะเวลาในความสนใจต่อสิ่งต่างๆ สั้น จึงขาดวิจารณญาณในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าว
4 วิธีการรับมือกับข่าวปลอม
1. สงสัย
เมื่อรับข้อมูลข่าวสารมาแล้ว ต้องตั้งคำถามเพื่อพิสูจน์ว่าเชื่อได้ไหม แยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น ตรวจสอบแหล่งข่าว ค้นคว้า รู้ทันข่าวว่าใช้วิธีชักนำความคิดอย่างไร และอะไรที่มีผลต่อความคิดส่วนตัว
2. ให้เหตุผล
ต้องสามารถยืนยันและอธิบายด้วยเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนให้ได้ด้วยว่าเพราะทำไมถึงเชื่อข่าวนั้น รวมทั้งหาเหตุผลมาแย้งความคิดส่วนตัวเพื่อทบทวนจุดยืน และเมื่อได้แลกเปลี่ยนจะได้มีวิธีถกเถียงอย่างมีประสิทธิภาพ
3. สะท้อน
แสดงจุดยืนเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น โดยเอาจุดยืนมาอภิปรายกับผู้อื่น ช่วยกันตรวจสอบ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รับผิดชอบประเด็นที่เป็นข่าวด้วย หากเจอผู้ที่คิดต่างต้องยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย
4. เปิดใจรับฟัง
รับฟังผู้อื่นเพื่อตรวจสอบจุดยืนส่วนตัวว่าถูกต้องหรือไม่ โดยจับประเด็นสำคัญให้ได้ กล้าอภิปรายเป็นกลุ่ม เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เชื่อว่าข่าวนั้นเป็นจริงอย่างไร เปรียบเทียบจุดยืนส่วนตัวกับจุดยืนของผู้อื่น หากจุดยืนของผู้อื่นมีเหตุผลมากกว่าก็ต้องเปิดใจยอมรับ
ที่มา
http://cclickthailand.com/10-ประเภทของ-fake-news/ http://cclickthailand.com/รับมืออย่างไรดี-กับข้อม/ http://cclickthailand.com/ทำไมคนถึงหลงเชื่อข่าวป/