ในปัจจุบัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียผ่านอุปกรณ์พกพา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์โฟน แทบเล็ต โน้ตบุ๊ก มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเสพติดเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาทางสายตา ออฟฟิศซินโดรม ความอ่อนเพลียจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์รุนแรง แปรปรวน โรคซึมเศร้า

ดิจิทัลดีท็อก (Digital Detox) เป็นการบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการเสพติด โดยการนำตัวเองออกห่างจากสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อฟื้นฟูตัวเองจากการใช้งานเทคโนโลยี เว้นวรรคหรือพักการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว ลดการใช้งานสมาร์ทโฟน ไม่สนใจโซเชียลมีเดีย เป็นกระบวนการพื้นฐานของการเริ่มต้นห่างจากอุปกรณ์พกพา และปรับเวลาในการดำเนินชีวิตและการใช้งานเทคโนโลยี ให้เป็นไปอย่างสมดุล

โดยวิธีการดังกล่าว จะมุ่งเน้นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรม ไปพร้อมๆ กับการบำบัดทางใจ โดยลดหรือตัดขาดจากการใช้อุปกรณ์พกพา และพาตัวเองไปออกสู่โลกภายนอก ทั้งแหล่งที่อยู่ธรรมชาติ หรือชุมชนที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา

จุดมุ่งหมายหลักของดิจิทัลดีท็อก คือ การสร้างสมดุลให้กับชีวิตเราใหม่ ทำให้เรารู้สึกสงบและมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงได้ชัดขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ในแง่ความสัมพันธ์ การสร้างงาน สุขภาพทางกายและใจ เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเราและผู้อื่น ลดความเครียดและความกดดัน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ มีเวลาทบทวนตัวเอง ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ รวมถึงได้สุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ในปัจจุบัน เริ่มมีหน่วยงานที่ให้บริการทำดิจิทัลดีท็อก เช่น https://www.digitaldetox.com ที่มีโปรแกรมทำกิจกรรมให้ผู้ที่รับการบำบัดได้เลือกทำระหว่างที่เข้าร่วม โดยมีผู้ให้คำแนะนำคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างกิจกรรม เช่น เดินป่าชมธรรมชาติ บำบัดด้วยโยคะหรือการนั่งสมาธิ เรียนรู้วิธีการทำการเกษตร ฝึกลมหายใจเข้า-ออก เพื่อลดความเครียด และ ทำให้อยู่กับตนเองมากขึ้น รวมถึงเข้าครัวทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นต้น
อ้างอิง
https://www.scimath.org/article-technology/item/10982-digital-detox https://www.digitaldetox.com/blog